หน้าแรก / ความรู้ / ชื่อต้น : ประสักแดง

ชื่อต้น : ประสักแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bruguiera sexangula (Lour.) Poir.
วงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น ๆ ขลัก, พังกาหัวสุม

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูง 25-35 ม. โคนต้นมีพูพอนสูง มีรากหายใจคล้ายหัวเข่า เปลือกหยาบ สีน้ำตาลดำถึงดำ แตกเป็นร่องตาม ยาวไม่เป็นระเบียบ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่แกมรี ขนาด กว้าง 4-9 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบมน ผิวใบเรียบหนา คล้ายแผ่นหนัง ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเขียวอมเหลือง
ดอก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ก้านดอกยาว 3-4 ซม. โค้งลงล่าง ดอกตูม รูปกระสวย ยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว โคนติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ ลึกลงครึ่งหนึ่ง รูปขอบขนาน สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ปลายกลีบเว้า หยักลึกลงเกือบถึงกลางกลีบ เป็น 2 แฉก ปลายแหลม มีขนสั้น ๆ ปกคลุมและมีรยางค์เป็นเส้นแข็งติดที่ปลาย 3-4 เส้น เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายสุ่ม
ผล รูปไข่คล้ายลูกข่าง ยาว 2-3 ซม. ผิวเรียบ จะงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น
ฝัก รูปกระสวย ขนาด กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 7-25 ซม. เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเด่นชัด สีเขียวเข้มแกมม่วง เมื่อแก่จัดมีสีม่วงดำ

พบที่ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงนิวกีนีตะวันออก และนิวบริทเทน ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นในที่เลนน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว ตามริมคลอง และที่ดอนน้ำทะเลท่วมถึง

ประโยชน์/สรรพคุณ
ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะเป็นไม้ที่มีรูปทรงสวย ลำต้นใช้ทำฟืน เผาถ่าน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือประมง เสาโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ ฝักพังกาหัวสุมสามารถนำมาเชื่อมรับประทานได้
พิมพ์ QR Code