หน้าแรก / ความรู้ / ชื่อต้น : คัดเค้า

ชื่อต้น : คัดเค้า

ลักษณะทั่วไป :
ไม้ ไม้รอเลื้อยเนื้อแข็ง หรือไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 3-6 เมตร เนื้อไม้เหนียวมาก มีหนามแหลม ยาว 1 เซนติเมตร ปลายโค้งแข็งเป็นคู่ตามข้อและโคนใบ เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปลายกิ่งก้านมีสีเขียว
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม เนื้อใบหนาแข็ง แผ่นใบเรียบ หลังใบผิวใบเรียบเป็นมัน สีเขียวสด ด้านท้องใบสีอ่อนกว่า เรียบและลื่น เนื้อใบเหนียวใบรูปรี แกมขอบขนาน กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ มีหูใบเล็กรูปเหลี่ยม อยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อใหญ่ แต่ละช่อมีขนาดตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร ดอกย่อย 10-25 ดอก คล้ายดอกเข็ม บานพร้อมกันทั้งช่อ เมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแกมเหลือง กลิ่นหอมแรงในตอนกลางคืน กลีบดอกส่วนโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานกลีบดอกจะบิด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวและยื่นพ้นกลีบดอก เกสรเพศเมียรูปกระสวย สีขาว กลีบเลี้ยง สีขาวอมเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม
ผล ผลสดแบบผลกลุ่ม รูปกลมรี สีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีดำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้นนูนเป็นวง เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก
การกระจาย มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาฟริกาเขตร้อน พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจ-พรรณ และตามป่าละเมาะตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 500 เมตร ออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม ติดผลราวเดือนเมษายน
ประโยชน์ :
1. ลำต้น มีรสฝาด แก้เสมหะ และโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไข้
2. ใบ แก้โลหิตซ่าน แช่น้ำดื่มแก้ไข้
3. ราก มีรสเย็นฝาดเล็กน้อย แก้ไข้ และเลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ ขับลม
4. ดอก รสขมหอม แก้โลหิตในกองกำเดา แก้เลือดออกตามไรฟัน ผล รสเฝื่อนปร่า ปรุงเป็นยาต้มฟอกโลหิตระดูที่เน่าร้ายของสตรี เป็นยาขับประจำเดือน ฟอกเลือด บำรุงโลหิต ผลมีสารจำพวกไตรเทอร์ปีนซาโปนิน มีฤทธิ์เบื่อปลา
5. รากและผล ขับระดู บำรุงโลหิต ขับฟอกโลหิต แก้ท้องเสีย
6. รากหรือแก่น ฝนน้ำกินแก้ไข้ เปลือกต้น แก้เสมหะและโลหิตซ่าน รีดมดลูกแก้เลือดออกในทวารทั้งเก้า
7. หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ ลดไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษไข้กาฬ
8. แก่น ฝนน้ำรับประทานแก้ไข้
พิมพ์ QR Code