Home / Knowledge / ชื่อต้น : หว้า

ชื่อต้น : หว้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels
วงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น ๆ ห้าขี้แพะ

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูง 15–25 ม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบ ปลายใบมนแหลมโคนใบมน กว้าง 5–7 ซม. ยาว 14–16 ซม. ก้านใบยาว 1.0–1.5 ซม. ดอก สีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ระหว่างโคนก้านใบกับกิ่ง และปลายกิ่งช่อดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง กลีบเลี้ยงรูปถ้วยปลายแผ่แยกออกเป็น 4 กลีบ ยาว 0.3–0.4 ซม. กลีบดอก 4 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.0–1.5 ซม. มีเกสรเพศผู้จำนวนมากผลสด รูปทรงกระบอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.0–1.5 ซม. ยาว 1.5–2.0 ซม. เมื่อแก่สีแดงและเปลี่ยนเป็นสีม่วงเกือบดำ เนื้อในมีสีม่วงเข้มรสหวานอมเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย พบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซียออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงถึงประมาณ1,100 ม.

พระพุทธประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้เสด็จไปประกอบพิธีแรกนาขวัญ พร้อมด้วยพระสิทธัตถะกุมาร ในระหว่างพิธี พระสิทธัตถะกุมารได้เสด็จไปประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์ หรือต้นหว้าใหญ่ แล้วนั่งสำรวมจิตเป็นสมาธิด้วยอานาปานสติกัมมัฏฐาน ถึงขั้นที่เรียกว่า “ปฐมฌาน” ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อย เงาต้นไม้ทั้งหลายย่อมคล้อยไปตามแสงทั้งสิ้น แต่เงาต้นหว้ายังคงดำรงเป็นร่มเงาให้พระสิทธัตถะกุมารอย่างน่าอัศจรรย์


ประโยชน์/สรรพคุณ
เปลือกแก้โรคบิด ท้องร่วงล้างแผล ใบ แก้ปากคอเปื่อย ลิ้นและคอเป็นเม็ด น้ำลายเหนียว

พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคล จังหวัด เพชรบุรี
Print QR Code