Home / Knowledge / ชื่อต้น : มะกล่ำตาหนู

ชื่อต้น : มะกล่ำตาหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius L.
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ ชื่ออื่น ๆ กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ มะกล่ำแดง มะแด๊ก (เชียงใหม่), เกมกรอม (สุรินทร์), ชะเอมเทศ ตากล่ำ (ทั่วไป), มะขามเถา ไม้ไฟ (ตรัง), หมากกล่ำตาแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); American pea, Crab's eye vine

ลักษณะทั่วไป
ไม้เถา ลำต้น อายุหลายปี สูงถึง 5 ม. เถาเนื้ออ่อน สีเขียว มีขนสีขาวปกคลุม

ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 8-20 คู่ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมีหนามเล็กติดอยู่ ใบกว้าง 3-8 ซม. ยาว 5-20 ซม. โคนใบมน ปลายใบมน ขอบใบเรียบขนาน มีหูใบ

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ยาว 2.5-12.0 ซม. ขนปกคลุม ยาว 9 มม. กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกล่างจะใหญ่กว่ากลีบดอกช่วงบน และจะอัดแน่นติดกันอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง มีเกสรตัวผู้ 9 อัน ใบประดับรูปหอก

ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกแกมรูปไข่ ออกเป็นพวง ยาวแบน ยาว 2.0-4.5 ซม. กว้าง 1.2-1.4 ซม. มีขนสีน้ำตาล ปลายฝักแหลม เปลือกฝักเหนียว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่แตกตามแนวยาว

เมล็ด 3-5 เมล็ด รูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 มม. สีแดง บริเวณขั้วจะมีแถบสีดำ ผิวเรียบ เงามัน

ประโยชน์/สรรพคุณ
สมุนไพร,พืชประดับ ใบ มีรสหวาน ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบชงน้ำรับประทานแทนน้ำชา ใบต้มน้ำดื่มแก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ตับอักเสบ กระตุ้นน้ำลาย ขับปัสสาวะ แก้ปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท ตำพอก แก้ปวดบวม แก้อักเสบ และแก้จุดด่างดำบนใบหน้า

รากใช้แก้เจ็บคอ ไอแห้ง ขับปัสสาวะ รสเปรี้ยวขื่น ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง กล่องเสียงอักเสบ แก้ไอ แก้หวัด

เถาและราก รสจืด ชุ่ม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อน แก้คออักเสบ คอเจ็บ คอบวม ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง แก้ไอหวัด แก้หืด แก้ไอแห้ง แก้หลอดลมอักเสบ แก้อาเจียน แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ

เมล็ดเป็นพิษ ห้ามรับประทาน หากเคี้ยวกินเพียง 1-2 เมล็ด จะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ตับและไตถูกทำลาย ชัก และเสียชีวิตได้
Print QR Code