ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus microcarpa L. f.
วงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ๆ ไทรกร่าง (กาญจนบุรี), ไทรย้อยใบทู่ (ทั่วไป), ไฮฮี (เพชรบูรณ์)
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น บางครั้งรอเลื้อย กึ่งอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน สูงได้ถึง 30 ม. หูใบยาว 0.5–1.5 ซม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับเกือบกลม ยาว 2–14 ซม. ขอบใบหนาช่วงโคน แผ่นใบหนา เส้นโคนใบ 1 คู่ เส้นแขนงใบย่อยเรียงขนานกัน มีต่อมไขที่โคนเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยาย ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ผลรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. ผลสุกสีชมพูหรือม่วงอมดำ ไร้ก้าน ช่องเปิดกว้าง 1.5–2 มม. มีขนด้านใน ใบประดับด้านบน 3 อัน เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบรวมด้านในสีแดง ขอบสีขาว พบที่ ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยพบทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ป่าเสื่อมโทรมชายทะเล หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1,100 ม.
ประโยชน์/สรรพคุณ
ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา รากอากาศใช้ต้มดื่มขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่ว บำรุงน้ำนม รากสมานลำไส้ แก้ท้องเสีย