主页 / 知识 / ชื่อต้น : โกงกางใบเล็ก

ชื่อต้น : โกงกางใบเล็ก

ไม้ต้น สูง 25-35 ม. รากค้ำยันลำต้นแตกแขนงระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ โคนรากทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นแล้วหักศอกลงดินเกือบเป็นมุมฉาก ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-50 ซม. เปลือกสีเทาคล้ำหรือเทาอมชมพู แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวทั่วไปและอาจมีร่องสั้นๆ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 8-18 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กยาว แข็ง สีดำ โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีแดงเรื่อๆ หรือชมพูอมแดง เส้นแขนงใบปรากฏรางๆ แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 1.5-3.5 ซม. มักมีสีแดงเรื่อๆ หูใบแคบ ปลายแหลมยาวประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบ เห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว 4-9 ซม. สีชมพู ร่วงง่าย ใบเล็กกว่าโกงกางใบใหญ่
ดอก สมบูรณ์เพศ ช่อดอกสั้นมาก ออกตามง่ามใบที่ใบร่วงไปแล้ว กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอก กว้าง 1-2 มม. ยาว 0.7-1.2 ซม. สีเหลืองอมเขียวหรือเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ 12 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่ปรากฏชัด
ผล มีรูปไข่กลับยาว 2-3 ซม. สีน้ำตาลคล้ำ ผิวค่อนข้างขรุขระ เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นจะปักลงในดิน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก และตอนเหนือของออสเตรเลีย ในไทยพบ ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นในป่าชายเลน ปากแม่น้ำลำคลองและพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ลำต้นใช้ก่อสร้าง เผาถ่านให้ถ่านคุณภาพดีมาก เปลือกต้นแทนนินสูง ใช้ในการย้อมสีและฟอกหนัง น้ำต้มจากเปลือกต้นเป็นยาฝาดสมาน แก้อาการท้องร่วง แก้โรคเบาหวาน หรือนำไป ทำสี ทำหมึก กาวสำหรับติดไม้ น้ำต้มจากใบใช้กินเป็นยาลดไข้ น้ำผึ้งจากดอกโกงกางอาจมีพิษ ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝัง รวมถึงเป็นแหล่งวางไข่และฟักตัวอ่อนของสัตว์ทะเล
打印二维码