หน้าแรก / ความรู้ / ชื่อต้น : ไผ่ป่า

ชื่อต้น : ไผ่ป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa bambos (L.) Voss
วงศ์ POACEAE
ชื่ออื่น ๆ Giant thorny bamboo, Indian thorny bamboo

ลักษณะทั่วไป
ไม้มีเหง้า เหง้าแยกแขนง ออกทางด้านข้าง ยอดแขนงเจริญเป็นลำต้นตั้งตรง ทำให้มีลำต้นเหนือดินเป็นกอใหญ่ ลำต้นรูปทรงกระบอก มีข้อและปล้องสลับกันไป แรก ๆ ตามข้อจะกาบกึ่งรูปทรงกระบอก ปลายแหลมหุ้ม กาบจะหลุดร่วงไปในเวลาต่อมา ตามข้ออาจมีรากอากาศบ้าง และมีกิ่งแขนงเรียวเล็ก ตามข้อกิ่งแขนงจะมีหนามแข็ง ส่วนที่ค่อนไปทางปลายลำต้นไร้แขนงเรียวหนาม
ใบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1-1.5 ซม. ยาวได้ถึง 15 ซม. เมื่อใกล้หมดอายุขัยจะออกช่อตามตา ข้อ ลำต้น
ช่อดอก แบบช่อเชิงลดหรือช่อกระจะเชิงประกอบ
ผล หรือเมล็ด ลักษณะและขนาดคล้ายเมล็ดข้าวเปลือก 
ในพระพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดาก็บรรลุโสดาปัตติผล เกิดศรัทธาเลื่อมใสประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และได้หลั่งน้ำทักษิโณทกถวายราชอุทยานเวฬุวัน อันอุดมไปด้วยต้นไผ่ ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสถานที่สงบร่มรื่น เหมาะสำหรับบำเพ็ญธรรม วัดเวฬุวันวนารามจึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่พระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยมิได้นัดหมาย เมื่อวันเพ็ญเดือน ๓ พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันแสดงหลักธรรม ๓ ประการ อันเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งถือเป็นที่มาของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งคือ วันมาฆบูชา

ประโยชน์/สรรพคุณ
เป็นไม้เบิกนำที่มีการเจริญเติบโตได้รวดเร็ว หน่ออ่อนหรือที่เรียกว่าหน่อไม้ ใช้รับประทานได้ ลำไผ่ใช้เนื้อไม้ทำบ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยและหัตถกรรมต่าง ๆ
พิมพ์ QR Code