ไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ เมตร เปลือกสีเทาดำ
ใบ เดี่ยว ออกเวียนสลับตามปลายกิ่ง รูปไข่แกมขอบขนาน ขอบใบจักตื้นๆ โคนใบสอบ ปลายใบแหลมมน
ดอก สีแดงหรือส้มแดง ออกเป็นช่อยาวทอดย้อยลงมาตามลำต้น ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ กลีบดอกมี ๔-๖ กลีบ ทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ เกสรผู้มีจำนวนมากขยายเป็นวงแป้นที่ปากดอก แกนเกสรสีชมพูปลายยอดเป็นสีเหลือง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑ เมตร
ผล สีน้ำตาลเข้ม รูปทรงกลม ผิวขรุขระ ขนาด ๑๕-๒๕ ซม. ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แถบประเทศบราซิล กายาน่า เวเนซูเอล่า และสุรีนาม เก็บตัวอย่างครั้งแรกจากประเทศ British Guiana อันเป็นที่มาของชื่อละติน guianensis ต่อมาจึงมีผู้นำเข้าไปปลูกในประเทศศรีลังกา และแพร่หลายทั่วไปในประเทศเขตศูนย์สูตร
ประเทศไทยนิยมปลูกต้นสาละลังกากันมากตามวัดวาอาราม ด้วยเป็นพืชที่ผลิดอก ออกช่อ สวยงาม เกือบตลอดปี แปลกตากว่าพืชชนิดใดๆ แท้จริงแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด