ชื่อพฤกษศาสตร์ : Anthocephalus chinensis Rich. ex Walp.
วงศ์ : Rubiaceaeฃ
ชื่อเรียกอื่นในประเทศไทย : กรองประหยัน (ยะลา) กระทุ่มหรือกระทุ่มบก (กลาง, เหนือ) กว๋าง (ลาว) โกหว่า (ตรัง) แคแสง (ชลบุรี, จันทบุรี) ตะกู (กลาง, สุโขทัย) ตะโกส้ม (ชลบุรี, ชัยภูมิ) ตะโกใหญ่ (ตราด) ตุ้มก้านซ้วง, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยงและตุ้มหลวง (เหนือ) ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้) ทุ่มพราย (ขอนแก่น) ปะแด๊ะ, เปอแด๊ะและสะพรั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ปาแย (มลายู-ปัตตานี)
ลักษณะทั่วไป : ตะกูเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 16-27 เมตร (สำหรับในประเทศไทย ต้นตะกูที่โตเต็มที่ที่พบในป่าธรรมชาติมีขนาดโตทางเส้นรอบวงเพียงอกประมาณ 280 ซม. สูงประมาณ 27 เมตร) เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ส่วนใหญ่ลำต้นเปลาตรง มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ (บางถิ่นกำเนิดโดยเฉพาะในแถบประเทศอินเดีย ลำต้นจะไม่เปลาตรงเนื่องจากมีกิ่งขนาดใหญ่ การลิดกิ่งตามธรรมชาติมีน้อย) เปลือกสีเทาปนน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยวเรียงตัวตรงข้ามเป็นคู่ ๆ มีขนาดประมาณ 5-12 x 10-24 ซม. ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบมีขนสาก ๆ และมีสีเข้มกว่าทางท้องใบ ท้องใบมีขนนุ่มและจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบมี 7-14 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้าน
ดอกตะกูมีขนาดเล็กติดกันแน่นอยู่บนช่อดอกแบบ Head สีขาวปนเหลืองหรือสีส้ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็น ช่อกลมเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน 2 ช่อ อยู่ตามปลายกิ่ง ผลตะกูเป็นผลเดี่ยวโดยเรียงกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อดอก เรียกผลแบบนี้ว่า Fruiting Head มีขนาดความโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-6 ซม. ผลแก่มีสีเหลืองเข้ม ในผลหนึ่ง ๆ จะมีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมากบรรจุอยู่ภายใน เมล็ดมีขนาดประมาณ 0.44 x 0.66 มม. เมล็ดแห้งหนัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนเมล็ดประมาณ 18-26 ล้านเมล็ด
ผลแก่เป็นอาหารของสัตว์ป่าจำพวกกวาง เก้ง และนก ซึ่งสัตว์เหล่านี้ช่วยให้การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural Regeneration) ของไม้ตะกูเกิดขึ้นได้ง่าย เราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มไม้ตะกูขึ้นอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งๆที่บางแห่งอาจจะมองไม่เห็นแม่ไม้ในบริเวณข้างเคียงเลยก็ตาม