หน้าแรก / ความรู้ / ชื่อต้น : ประดู่

ชื่อต้น : ประดู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ ฉะนอง, ดู่, ประดู่ป่า, ประดู่เสน

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง ๑๕-๓๐ เมตร เปลือกต้นสีเทาดำ
ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยเยื้องสลับกัน ๗-๑๑ ใบ รูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๕-๙ ซม. ดอกย่อยสีเหลืองเข้ม มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกรูปดอกถั่ว เกสรผู้ ๑๐ อัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
ผล กลมและเป็นแผ่นแบน สีเขียวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาด ๖-๑๐ ซม. มีเมล็ดตรงกลาง ๑ (-๒) เมล็ดและมีปีกบางๆล้อมโดยรอบ
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมียนม่าห์และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายพันธุ์ไปยังประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ตามบริเวณป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ เนื้อไม้แข็งแรง ทนทานใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน

ประโยชน์/สรรพคุณ
เปลือก สมานแผล แก้ท้องเสีย แก่น รักษาคุดทะราด แก้ไข้ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้พิษเบื่อเมา แก้ผดผื่นคัน และทำให้เลือดลมซ่าน ใบ พอกฝี รักษาบาดแผล แก้ผดผื่นคัน
พิมพ์ QR Code