ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea robusta C.F,Gaertn.
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น ๆ สาละอินเดีย Sal tree
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นขุรขระเป็นร่องตามยาว
ใบ เดี่ยวรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าตื้นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง
ดอก สีขาวอมเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ มีกลีบดอก ๕ กลีบ
ผล ทรงรูปไข่ขนาดเล็ก มี ๕ ปีก ยาว ๓ ปีกและสั้น ๒ ปีก รูปขอบขนานปลายมน
พระพุทธประวัติกล่าวว่า พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ ได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อกลับไปประสูติในตระกูลเดิมของพระองค์ที่กรุงเทวทหะ ตามความเชื่อดั้งเดิมในสมัยโบราณ เมื่อเสด็จถึงลุมพินีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระราชกุมาร ทั้งที่ประทับในพระอิริยาบถยืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชา
ประโยชน์/สรรพคุณ
อาหาร,สมุนไพร,พืชวัสดุ,พืชใช้เนื้อไม้,พืชให้ร่มเงา
สาละเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีประโยชน์มาก ชาวอินเดียนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน รวมถึงทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
เมล็ด นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำอาหาร เช่น ทำเนย และใช้เป็นน้ำมันตะเกียง รวมทั้งใช้ทำสบู่ด้วย
ยาง สามารถใช้เป็นยาสมานแผล ยาห้ามเลือด ใช้แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง โรคซิฟิลิส โกโนเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง บิด โรคหูอักเสบ เป็นต้น
ผล ใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น
พบขึ้นกระจายอยู่เฉพาะบริเวณที่ราบของเชิงเขาหิมาลัย ทางตอนเหนือของอินเดีย ประเทศเนปาลและบังคลาเทศ โดยเฉพาะช่วงเส้นทางระหว่างเมืองกุสินาราของอินเดียไปยังลุมพินีวันในประเทศเนปาล จะพบต้นสาละขึ้นอยู่เป็นป่าขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ประเทศไทยนิยมนำมาปลูกตามวัด เพราะเป็นไม้สำคัญในพุทธประวัติ