ชื่อวิทยาศาสตร์ : Santisukia kerrii (Barnett & Sandwith) Brummitt
วงศ์ BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น ๆ -
ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มคล้ายต้นแคนา แต่จะแผ่กระจายกว้างกว่า และต้นจะดูคล้ายต้นไม้โบราณน่าชมกว่าด้วย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเทาเกือบดำ มักมีรอยแผลใบเหลืออยู่ตามลำต้นชัดเจน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ มีใบย่อย 4-7 คู่ เป็นรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 3.5-7.5 ซม. ปลายแหลม โคนมน หรือกลมเบี้ยว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้นๆ หรือเป็นคลื่นห่างๆ สีเขียวสด เวลาใบดกจะให้ร่มเงาดีมาก
ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ช่อดอกจะยาวประมาณ 16-28 ซม. ลักษณะดอก มีกลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกจำนวนไม่แน่นอน กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดรูปลำโพง ปลายบานเป็นกลีบดอก 5 กลีบ กลีบย่นเป็นสีชมพู หรือชมพูเข้ม ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ และดูคล้ายดอกแคนามาก แต่แคนาจะเป็นสีขาว ดอกของ “แคสันติสุข” จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามหวานซึ้ง และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายใต้โคนต้น เป็นที่ประทับใจมาก “ผล” เป็นฝักสั้น ภายในมีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด ออกดอกเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์
ประโยชน์/สรรพคุณ
จากเอกสารการสำรวจประเมินพืชที่ถูกคุกคามในประเทศไทย พ.ศ. 2560 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุไว้ว่า แคสันติสุข จัดเป็นพืชที่มีสถานภาพอยู่ในกลุ่มมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์