ชื่อวิทยาศาสตร์ : <i> Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
วงศ์ LYTHRACEAE
ชื่ออื่น ๆ ตะแบกดำ, บางอบะชา, อินทนิล, Pride of India, Queen's crape myrtle
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูง ๘-๑๕ เมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน มีรอยแตกตามยาวตื้นๆ
ใบ เดี่ยว รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๖ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายหนัง
ดอก สีม่วง ออกเป็นช่อแขนงขนาดใหญ่ บริเวณปลายกิ่ง ขนาดดอกบาน ๘-๑๒ ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันนูนเล็กน้อย มีขนสั้นปกคลุม กลีบดอก ๖ กลีบ ลักษณะแผ่เกือบกลม ใกล้จะร่วงเป็นสีม่วงอ่อนและซีดลงจนเกือบขาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก ปลายยอดสีเหลือง ขนาดยาวไล่เลี่ยกัน
ผล แห้ง รูปป้อมรีหรือรูปกระสวย สีออกน้ำตาล ขนาด ๒-๓.๕ ซม. เมื่อแก่แตกตามรอยตะเข็บจากยอดผลลงมาเป็น ๕-๖ แฉก เมล็ดรูปแบนรีมีครีบสั้นๆ
ประโยชน์/สรรพคุณ
ราก รักษาแผลในปาก เปลือก แก้ท้องเสีย แก้ไข้ ใบ ตากแห้งต้มน้ำดื่ม ลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน แก้ปัสสาวะพิการ ละลายนิ่ว ผล แก้ปวดฟัน เมล็ด รักษาโรคเบาหวาน และทำให้นอนหลับ
ถิ่นกำเนิดจากอินเดีย ถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้น ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกตกแต่งภูมิทัศน์และให้ร่มเงาตามสองข้างทาง สวนสาธารณะและบริเวณสถานที่ราชการทั่วไป