ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia sappan Linn.
วงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น ๆ ฝางส้ม, Sapan tree
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งห้อยลง ลำต้นและกิ่งมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงสลับหรือเรียงเวียน ดอกช่อ กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝักแบย เมื่อแก่แตก
ประโยชน์/สรรพคุณ
1. ชาวเมี่ยนจะใช้กิ่งแก่ นำไปต้มกินเป็นน้ำชา
2. ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง มีทั้งในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบชง โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้เสมหะสะ บำรุงโลหิต แก้เลือดกำเดา
3. แก่นไม้เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับใบเตยหรือผลมะตูม จะช่วยให้มีสีสันสวยงาม
4. น้ำต้มจากแก่นฝางแดง จะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ผสมในน้ำดื่ม สีผสมอาหาร และนิยมนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าขนสัตว์ ส่วนฝางส้ม จะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์
5. นอกจากจะใช้เนื้อไม้ในการย้อมสีแล้ว ยังนำมาทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดียอีกด้วย ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และเป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง และเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐอย่างหนึ่ง
6. รากของต้นฝางจะให้สีเหลือง ที่ใช้ทำสีย้อมผ้าและไหมได้ หรืออาจใช้เป็นสีผสมอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ก็ได้
7. ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้แก่นของต้นฝาง (ที่เหลาเป็นไม้จิ้มฟัน) ไปตอกลงบนต้นขนุนจนถึงเนื้อไม้ จะไปกระตุ้นให้ขนุนติดลูกบริเวณที่เราตอกลงไป
8. เนื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม
9. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา (เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาขนาดเล็ก) แต่ต้องหมั่นตัดกิ่งที่เลื้อยพันออกให้ เพื่อให้เป็นทรงตามต้องการ เมื่อออกดอกจะออกดอกดกสีเหลืองงามอร่ามเด่นชัด และยังนิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้านตามชนบท