Home / Wissen / ชื่อต้น : ผักเหลียง

ชื่อต้น : ผักเหลียง

การปลูกผักเหมียง :
ผักเหมียงควรปลูกในที่ร่ม มีดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีฝนตกชุกและต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการปลูกผักเหมียงมากขึ้น โดยการปลูกแซมสวนยางพารา สวนมะพร้าว และสวนสมรม การปลูกผักเหมียงเพื่อการบริโภคนั้น มักจะตัดต้น ไม่ให้สูงเกินมือเอื้อมถึง

การขยายพันธุ์ผักเหลียง :
สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีคือ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการใช้ต้นจากราก แขนง
1.การเพาะเมล็ด
นำเมล็ดมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปเพาะบนกระบะที่มีส่วนผสมของดินทรายกับขี้เถ้าแกลบ กลบให้วัสดุเพาะเสมอเมล็ด รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมล็ดจะเริ่มงอกประมาณเดือนที่ 4 จนถึง 1 ปี ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีอัตราการรอดสูง ทรงพุ่มสวย ทนแล้งได้ดี แต่อายุการเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี
2.การตอนกิ่ง
การตอนกิ่งควรตอนจากต้นหรือกิ่งกระโดงที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยสังเกตเปลือกของกิ่งควรมีสีน้ำตาลอมเขียวเล็กน้อย การควั่นควรควั่นให้ชิดกับข้อ รอยควั่นมีระยะห่างกันเท่ากับเส้นรอบวงของต้นหรือกิ่งที่จะตอน เมื่อควั่นเสร็จแกะเปลือกขูดเนื้อเยื่อเจริญออกให้หมด ใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำจนอิ่มใส่ถุงพลาสติกผูกปากถุง กรีดถุงจากก้นถึงปากถุงนำมาหุ้มที่รอยควั่นผูกเชือกหัวท้ายให้แน่น หมั่นตรวจดูความชื้นอย่าปล่อยให้แห้งรากจะงอกภายในเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน ตรวจดูรากสามารถดูดน้ำได้หรือไม่ เมื่อรากทำงานดีแล้วตัดเอาลงถุงปลูก เมื่อต้นแข็งแรงดีจึงนำลงหลุมปลูก การปลูกด้วยกิ่งตอนจะได้ทรงพุ่มดี ให้ผลผลิตมากและรวดเร็ว
3.การใช้ต้นจากรากแขนง
ผักเหมียงที่มีอายุประมาณ 4 – 5 ปี หากต้นและรากเจริญดีก็จะงอกต้นใหม่ สามารถขุดนำไปปลูกได้ แต่อัตราการรอดตายประมาณร้อยละ 50 – 80 เพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายควรนำต้นใหม่มาปลูกในถุงเพาะชำจนมีความแข็งแรงเสียก่อนนำลงปลูก
4.การเตรียมพื้นที่ปลูกผักเหลียง
ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ต้นพันธุ์ที่ใช้ต้องเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง วางต้นพันธุ์ให้เอียง 45 องศา ในหลุมที่ขุดแล้วกลบดินแต่พอแน่น รดน้ำให้ชุ่มใช้ไม้หลักปักผูกเชือกให้เรียบ ร้อยเพื่อป้องกันลม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือช่วงฝนตกจะช่วยให้ไม่เสียเวลา และแรงงาน ในการรดน้ำ การให้ปุ๋ยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 15 -7 - 18, 15 - 15 - 15 ผสมกับปุ๋ย
สูตร 12 - 5 - 14 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่/ปี กรณีปลูกร่วมในสวนยาง ในสวนไม้ผล ในช่วงต้นฤดูฝนใช้ปุ๋ยสูตร 15 - 15 -15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่/ปี
5.การเก็บเกี่ยวผักเหลียง
เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นผักเหมียงมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เก็บเกี่ยว 15-30 วัน/ ครั้ง เก็บยอดอ่อนถึงยอดเพสลาด ควรเด็ดให้ชิดข้อ ไม่เด็ดกลางข้อหรือตัด เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนในครั้งต่อไปจะช้า เมื่อเก็บแล้วอย่าให้ใบหรือยอดอ่อนนั้นถูกแสงแดดและลม ควรพรมน้ำแต่พอชุ่ม สามารถเก็บได้นาน ประมาณ 5-6 วัน

การใช้ประโยชน์จากต้นเหลียง :
ใบผักเหมียงใช้รับประทานสดและประกอบเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง ต้มกะทิ ใช้ห่อเมี่ยงคำ ผัดวุ้นเส้น แกงไตปลา และผัดผัก ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นิยมนำเนื้อในเมล็ดของผักเหมียงมาทำข้าวเกรียบ

สรรพคุณทางยา - ใบ รับประทานเพื่อบำรุงเส้นเอ็น กระดูก สายตา และสามารถนำมาใช้ลอกฝ้าได้อีกด้วย
QR Code drucken