Home / Wissen / ชื่อต้น : มะขามเปรี้ยว

ชื่อต้น : มะขามเปรี้ยว

วิธีการปลูก : นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ติดตา ต่อกิ่ง ระยะปลูก 10×10 เมตร หรือ 5×5 วา ไร่หนึ่งปลูก 16 ต้นต่อไร่ มะขามเปรี้ยวเป็นไม้ผลระยะยาวเป็นร้อยๆ ปี ถ้าปลูกชิดมาก จะมีผลต่อทรงพุ่มของมะขามเปรี้ยว เป็นพืชที่แดดจัดมาก น้ำน้อย ถ้าปลูกที่ร่มมะขามจะไม่โต ไม่ติดฝัก และถ้าบำรุงรดน้ำใส่ปุ๋ยมากเกินไปก็จะไม่ติดฝัก ควรเตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 เซนติเมตร หาเศษหญ้าปุ๋ยคอก (ขี้วัว) รองก้นหลุม

การดูแลรักษา : หลังจากช่วงประมาณ 6 เดือน หลังปลูกให้ใส่ปุ๋ยคอกอัตราส่วน 100,200 กรัมต่อ 1 ต้น ในปีแรกแบ่งเป็น 2 ครั้งๆ ละ 100,200 กรัมต่อต้น และควรเพิ่มปุ๋ยมากขึ้นตามทรงพุ่มของต้น หลังจากปีที่ 2 และขึ้นปีที่ 3 ถ้าต้องการให้มะขามติดฝัก ควรหยุดให้น้ำให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นสลัดใบในช่วงหน้าร้อน พอต้นฤดูฝน พอฝนตกลงมา มะขามก็จะเริ่มแตกใบอ่อนและออกดอก ติดฝัก หลังจากออกดอกติดฝัก ควรบำรุงรดน้ำใส่ปุ๋ย และเด็ดฝักอ่อนทิ้งบ้าง ถ้าเกิดช่วงปีแรกเก็บฝักไว้เยอะเกินไปจะทำให้ต้นโทรม เพราะเมื่อมะขามติดฝักแล้วต้นจะเริ่มโตช้าลงเพราะมะขามจะนำอาหารไปเลี้ยงฝักหมด เมื่อมะขามให้ฝักควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้ฝักใหญ่ได้น้ำหนักมาก

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ : โรคราแป้ง พบรอยแผลบนยอดใบอ่อนมีสีซีด มีผงละเอียดสีขาวบนใบและใต้ใบ ป้องกันกำจัดโดยตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ถ้าพบการระบาดมากกว่า10% พ่นด้วยสารเคมี เช่น สารกำมะถันผง โรคฝักเน่า สำรวจการเกิดเส้นใบของเชื้อราในระยะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนถึงฝักแห้งป้องกันกำจัดโดยถ้ามีฝนตกติดต่อกันควรเริ่มพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืช เช่น สารคาร์เบนดาซิม จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน
แมลงนูนหลวง ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคาร์บาริล หนอนคืบละหุ่ง สำรวจการเข้าทำลายทุก 7 วัน ในช่วงการแตกใบอ่อนป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคาร์บาริล ไรแดง เข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ช่อดอกแห้งและร่วง ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารอามีทราช จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน หนอนเจาะฝัก สำรวจการเข้าทำลายฝักระยะเมล็ดสีเขียวใสถึงฝักเริ่มสุก ป้องกันกำจัดโดยฝักมะขามที่มีร่องรอยการทำลายมาเผาทำลายหรือพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ : ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ผลอ่อน / แก่ ใช้บริโภคเป็นอาหาร มะขามเปรี้ยวที่แก่จัดและเปลือกหุ้มฝักเปราะดีแล้ว เมื่อแกะเอาเปลือกออกเนื้อภายในเรียกว่ามะขามเปียก มะขามเปียกนอกจากใช้ใส่ในแกงต่าง ๆ เพื่อปรุงรสแล้ว ยังใช้ทำน้ำมะขาม มะขามกวน มะขามแก้ว การปรุงอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก มีรสเปรี้ยว ให้รสเปรี้ยวในอาหาร เช่น ต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มไก่ ปลา แกงเห็ด แกงส้ม ผลอ่อน นำมาประกอบอาหาร เช่น น้ำพริกมะขาม ผลแก่ นำส่วนเนื้อในผลมาคั้นเป็นน้ำปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม นอกจากนี้ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกและผลอ่อน–แก่ มีรสเปรี้ยวฝาด สรรพคุณ ขับ (ล้าง) เสมหะในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ
QR Code drucken