ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ ดู่บ้าน, ประดู่กิ่งอ่อน, ประดู่ลาย, ประดู่อังสนา, Angsana, Red Sadalwood
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งและใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และรังไข่ หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบประกอบเรียงเวียนยาว 8–25 ซม. ใบย่อยมี 5–13 ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 2.5–11 ซม.ปลายแหลมยาว ก้านใบย่อยยาว 3–8 มม.
ช่อดอก แบบช่อกระจะมักแยกแขนงส่วนมากออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 15 ซม. ใบประดับย่อยรูปลิ่มแคบติดที่โคนกลีบเลี้ยง ก้านดอกยาว 0.8–1.5 ซม. มีข้อ หลอดกลีบเลี้ยงยาว 4–6 มม. ปลายจักตื้นๆ 5 แฉก คล้ายรูปปากเปิด คู่บนเชื่อมติดกัน ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง ยาว 0.7–1.5 รวมก้านกลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้าง ปลายเว้าตื้น กลีบปีกและกลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันกลุ่มเดียวหรือ 2 กลุ่ม อับเรณู ติดไหวได้ รังไข่มี 2–6 ช่อง มีก้าน ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 6–9 มม. ยอดเกสรเป็นตุ่มผล ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ
พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคล จังหวัด ภูเก็ต
ประโยชน์/สรรพคุณ
เนื้อไม้ ใช้ก่อสร้าง รากหรือผล แก้ไข้ทุกชนิ ขับน้ำลาย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร ลำต้น ดองสุราดื่ม ช่วยเจริญอาหาร
ในความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ให้ปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกและให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย