หน้าแรก / ความรู้ / ชื่อต้น : อะราง

ชื่อต้น : อะราง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peltophorum dasyrrhachis (Miq.) Kurz
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ กว่าแซก (กาญจนบุรี) คาวรุ้ง คางฮุ้ง (พิษณุโลก) จ๊าขาม ช้าขม (เลย) ตาแซก (บุรีรัมย์) ราง (สุรินทร์) ร้าง อะราง อะล้าง (อุดรธานี) อินทรี (จันทบุรี)

ลักษณะทั่วไป
ลำต้น ไม้ต้น สูง 10-30 ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศจำนวนมาก กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงตรงข้าม ยาว 15-40 ซม. ใบย่อยชั้นที่หนึ่งเรียงตรงข้าม มี 5-9 คู่ ใบย่อยชั้นที่สองเรียงตรงข้าม มี 6-16 คู่ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 1-1.5 ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้น โคนเบี้ยว แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านล่างมีขนสั้น ก้านใบ แกนกลางใบ และก้านใบย่อยมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ปลายยอดมีหูใบรูปคล้ายเขากวาง ร่วงง่าย
ออกดอกเป็นช่อ แบบช่อกระจะ ห้อยลง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อยาว 10-30 ซม. ก้านช่อดอก แกนกลางช่อดอกและก้านดอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว 2-4 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีขนสั้นุ่มสีน้ำตาล กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่กลับ ยาว 1.5-2.5 ซม. ยับย่น โคนคอดคล้ายก้านกลีบ เกสรผู้มี 10 เกสร
ผล แบบผลแห้งไม่แตก รูปรีหรือรูปกระสวย กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 4-6 ซม. ค่อนข้างแบน บิดเล็กน้อย มีปีกบางรอบผล ปลายทั้ง 2 ด้านเรียวแหลม ผลแก่สีน้ำตาล
เมล็ด มี 1-8 เมล็ด

ประโยชน์/สรรพคุณ
เป็นไม้เบิกนำที่โตเร็ว เหมาะสมต่อการนำไปปลูกฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
เนื้อไม้ ใช้ทำฟืน เผาถ่าน แปรรูปเป็นไม้ฝา กระดาน เสา ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องมือกสิกรรม
พิมพ์ QR Code