Home / Knowledge / ชื่อต้น : อวบดำ

ชื่อต้น : อวบดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chionanthus ramiflorus Roxb.
วงศ์ OLEACEAE
ชื่ออื่น ๆ น้ำนอง, สาไรแก้ว (ภาคเหนือ)/ เกลื่อน (สุราษฎร์ธานี)/ ตาไชใบใหญ่, โว่โพ้ (ตรัง)/ ไบร้ (เขมร-สุรินทร์)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-10 ม. เรือนยอด ค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านเรียวเล็กและลู่ลง เล็กน้อย เปลือกนอกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น สีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 7-25 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 1.2-3 ซม. เกลี้ยง
ดอก เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาว 4-15 ซม. เกลี้ยง แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 1-2 มม. ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5-0.75 มม. กลีบดอกรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.75 มม. ยาว 2-4 มม. ปลายมน ขอบม้วนขึ้น เกสรเพศผู้ 2 อัน อับเรณูรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 0.75 มม. เชื่อมติดกับส่วนของรังไข่ รังไข่สีเขียว รูปทรงค่อนข้างกลม ยาว 1-1.5 มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 พูตื้น ๆ
ผล เป็นผลสด รูปทรงรี กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. เกลี้ยง ก้านผลอวบสั้น มีกลีบเลี้ยงติดทน ผลสุกสีม่วงดำ มีนวล มี 1 เมล็ด

ประโยชน์/สรรพคุณ
ราก นำไปต้มน้ำอมช่วยให้ฟันทน และเคี้ยวอมเพื่ออดบุหรี่
ลำต้น ใช้ในตำรับยาตะแบกป่า โดยนำมาผสมกับเนื้อไม้ตะแบกป่า (มะเกลือเลือด) ต้มน้ำดื่มรักษาโรคมุตกิด โรคระดูขาว รักษาภาวะมีบุตรยากในสตรีเนื่องจากรอบเดือนผิดปกติ
Print QR Code