ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus santalinus L. f.
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ รักตจันทน์, Red sandalwood
ลักษณะทั่วไป
จันทน์แดงเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐-๑๒ เมตร ลำต้นเปลาตรง แก่นไม้เนื้อแข็งสีแดงคล้ำ เปลือกต้นเป็นสะเก็ดสีเทาดำ มีน้ำยางสีแดง ผลัดใบช่วงสั้นๆ ในหน้าแล้ง ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่แกมมน ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เกสรตัวผู้มี ๑๐ อันแบ่งเป็น ๒ มัด มัดละ ๕ อัน ผล เป็นผลแห้งแก่ไม่แตก ลักษณะแผ่แบนคล้ายปีก รูปค่อนข้างกลม ขนาดกว้างประมาณ ๔-๕ ซม. มีเมล็ดเดียวนูนอยู่ตรงกลางผล
เศรษฐีในกรุงราชคฤห์ท่านหนึ่งต้องการพิสูจน์อิทธิฤทธิ์ของพระอรหันต์ จึงนำไม้จันทน์แดงมากลึงเป็นบาตรแล้วแขวนบนเสาสูงถึง ๑๕ วา ประกาศว่า หากมีพระอรหันต์นำบาตรลงมาได้จะยอมเป็นพุทธบริษัทตลอดชีวิต พระสาวกองค์หนึ่งจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปนำบาตรลงมา
พระศาสดาทรงทราบและทรงตำหนิว่าเป็นการไม่สมควร จึงโปรดให้ทำลายบาตรนั้นเสีย แล้วทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์สืบไป
ประโยชน์/สรรพคุณ
เป็นพันธุ์ไม้หายากและเป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่น พบขึ้นกระจายอยู่เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย เนื้อไม้สีแดงแข็งแรงทนทาน มีกลิ่นหอมเฉพาะและไม่ถูกทำลายด้วยปลวกและแมลง ปัจจุบันมีการนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศเขตร้อนของทวีปเอเชียหลายประเทศ