ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thepparatia thailandica Phuph.
วงศ์ MALVACEAE
ชื่ออื่น ๆ -
ลักษณะทั่วไป
ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 20 ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 10–15 ซม. มีขนรูปดาวกระจายตามแผ่นใบด้านบน ก้านใบ ช่อดอก ริ้วประดับ และกลีบเลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปฝ่ามือ มี 3–5 แฉกตื้น ๆ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนมีต่อมทั่วไป ก้านใบยาว 5–10 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว 20–30 ซม. ดอกจำนวนมาก ริ้วประดับติดทน มี 5–7 กลีบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม มีแถบสีแดง กลีบรูปไข่กลับ ยาว 3–3.5 ซม. ปลายกลีบม้วนออก เส้าเกสรเพศผู้ยาว 1.5–2 ซม. อับเรณูรูปเกือกม้า ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.6 ซม.
พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ตาก ใกล้ชายแดนพม่า และเชียงใหม่ (เชียงดาว) ขึ้นตามหุบเขาที่ลาดชันใกล้ลำธาร หรือเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ความสูง 350–700 เมตร
ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ (type speci-men) เก็บโดย ดร.ราชันย์ ภู่มา จากป่าในจังหวัดตาก ใกล้ชายแดนพม่า นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์ นักพฤกษศาสตร์อาวุโส ประจำหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ศึกษาและตีพิมพ์ประกาศให้เป็นพรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 34 ค.ศ. 2006
ชื่อสกุล Thepparatia ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชื่อบ่งชนิด thailandica หมายถึง ประเทศไทย สถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรก ปัจจุบันเครือเทพรัตน์มีสถานะภาพเป็นพรรณไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered; EN)
“thailandica” ตั้งตามชื่อประเทศไทย ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 34 หน้า 195–200 ปี ค.ศ. 2006 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Pooma et al. 4981 (holotype: BKF) ที่เก็บอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
เอกสารอ้างอิง:
Phuphathanaphong, L. (2006). Thepparatia (Malvaceae), a new genus from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 34: 195–200.
ประโยชน์/สรรพคุณ
-