Home / Wissen / ชื่อต้น : ทุเรียน

ชื่อต้น : ทุเรียน

วิธีการปลูก : นิยมขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งทาบและเสียบยอด การปลูกเตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร หรือ 10x10 เมตร ให้ผล ผลิตหลังปลูก 4-5 ปี

การดูแลรักษา : หลังปลูกใหม่ควรให้น้ำสม่ำเสมอ ส่วนการให้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 หว่านรอบทรงพุ่ม อัตรา 1 ใน 3 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม หน่วยเป็นกิโลกรัม ช่วงก่อนออกดอกถึงเก็บเกี่ยว ถ้าตาดอกระยะไข่ปลา พ่นด้วยปุ๋ยโพแทสเซียมในเตรท 13-0-46 อัตรา 100-200 กรัม ร่วมกับสารสกัดจากสาหร่ายทะเล อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทั่วทรงพุ่ม ช่วงผสมเกสรพ่นด้วยปุ๋ยทางใบที่ธาตุแคลเซียมและโบรอนจำนวน 1 ครั้ง ที่ดอกและใบให้ทั่วพอเปียก ช่วงพัฒนาการของผลเมื่อผลอายุ 5-7 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมี เช่น สูตร 8-24-24 (กิโลกรัมต่อต้น) อัตรา 1 ใน 3 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม เมื่อผลอายุ 10 -11 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 ,
0-0-60 (1-2 กิโลกรัมต่อต้น) หว่านให้ทั่วรอบทรงพุ่ม

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ : โรครากเน่าและโคนเน่า มีอาการใบเหลืองแล้วค่อยๆ หลุดร่วง ต้นทรุดโทรมแล้วตาย โคนต้นหรือกิ่งเน่า มีน้ำยางไหลออกมาจากแผล ป้องกันกำจัดโดยอัดฉีดลำต้นด้วยสารเคมีฟอสฟอรัสแอซิด ผสมน้ำอัตรา 1:1 ส่วนที่ลำต้นหรือกิ่ง ใช้วิธีถากเปลือกออกแล้วทาด้วยสารเคมี เมตาแลคซิลและลดปริมาณเชื้อไฟทอปธอร่าในดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ใส่ในดิน เช่นเชื้อราไตรโคเดอมา โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อไฟทอปธอร่ามักทำลายบริเวณก้นผล ป้องกันกำจัดโดยตัดและเผาทำลาย เมื่อพบผลที่เป็นโรค โรคแอนแทรกโนส สำรวจพบดอกถูกทำลายมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของดอกทั้งหมดบนต้น ป้องกันกำจัด โดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารเบนโนมิล โรคใบไหม้ ใบเพสลาดแสดงอาการใบไหม้สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารเบนโนมิล โรคใบติด อาการใบไหม้แห้งติดกัน เป็นกระจุกเชื่อมกันด้วยเส้นใยของเชื้อรา ใบร่วงมาก ป้องกันกำจัดโดยพบอาการเล็กน้อยให้ตัดเผาทำลาย ถ้ารุนแรงให้พ่นด้วยสารคาร์เบนดาซิม โรคราสีชมพู พบเส้นใยสีขาวแกมชมพูปกคลุมผิวกิ่งเมื่อใช้มีดถากเปลือกบริเวณใต้เส้นใยเนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งเผาทำลายถ้าอาการรุนแรงพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคาร์เบนดาซิม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยจักจั่นฝอย หนอนกินใบ ทำลายใบทำให้ใบบิดงอ ใบอ่อนหลุดร่วง ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารแลมป์ดาไซฮาโลทริน ไรแดง ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบร่วง ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่นสารโพรพาร์ไกต์ หนอนด้วงหนวดยาว อาศัยกัดกินภายในลำต้นทำลายท่อน้ำ ท่ออาหาร ถ้าระบาดรุนแรงทำให้ต้นตายป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเคมี เช่น อิมิดาโคลพริด ให้โชกบริเวณลำต้นจากโคนถึงยอดและกิ่งขนาดใหญ่ ถ้าระบาดรุนแรงต้นโทรมใบเหลืองและเหี่ยว เพลี้ยไฟ เข้าทำลายดอก ทำให้ดอกแห้งและร่าง ป้องกันโดยพ่นสารเคมี เช่น สารแลมป์ดาไซฮาโลทริน หนอนกินดอก ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเคมี เช่น คาร์โบซัลแฟน หนอนกินขั้วผล ตัวหนอนกัดแทะขั้วและเปลือกผลทุเรียนทำให้เป็นแผลเสียคุณภาพ ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเคมี เช่น คาร์โบซัลแฟน หนอนเจาะผล ตัวหนอนกัดกินและทำรังบริเวณผิวผลทุเรียนตั้งแต่ผลอายุ 6 สัปดาห์หลังดอกบานถึงเก็บเกี่ยว ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์โบซัลแฟน หนอนเจาะเมล็ด หนอนเข้ากัดกินเมล็ดและถ่ายมูลออกมา เนื้อทุเรียนเปื้อนเสียหาย ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารไดอะซินอน เพลี้ยแป้ง ดูดกินน้ำเลี้ยงจากผล มีมดเป็นพาหะ ป้องกันกำจัดโดยตัดผลที่ถูกทำลายเผาหรือพ่นด้วยน้ำเพื่อขจัดเพลี้ยแป้งระยะตัวอ่อน โรยคาร์บาริลโคนต้นป้องกันมดพาหะ หรือพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคลอร์ไพรีฟอสหรือไซเพอร์เมทริน พ่นเป็นจุดเฉพาะบริเวณที่ถูกทำลาย หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ : ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีรสหวานมันให้พลังงานมาก ใน 100 กรัมให้พลังงานมากถึง 144 กิโลแคลอรี มีแป้งและน้ำตาลราว 30 กรัม โปรตีน 25 กรัม มีสารอาหารสำคัญ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ เป็นต้น ในเนื้อทุเรียนมีสารกำมะถันมากไม่ควรดื่มสุราเมื่อรับประทานทุเรียนเพราะจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คนโบราณบอกว่าทุเรียนเป็นผลไม้มีฤทธิ์ร้อน หลังรับประทานควรรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้มีฤทธิ์เย็นตาม เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายสมดุล
QR Code drucken