主页 / 知识 / ชื่อต้น : ย่านดาโอ๊ะ

ชื่อต้น : ย่านดาโอ๊ะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phanera aureifolia (K. Larsen & S. S. Larsen) Bandyop., P. P. Ghoshal & M. K. Pathak
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ Gold leaf Bauhinia

ลักษณะทั่วไป
ไม้เถาเนื้อแข็ง มีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลหนาแน่นตามหูใบ แผ่นใบ ช่อดอก และฝัก หูใบรูปเคียว ยาว 1-1.5 ซม. ใบรูปไข่กว้างเกือบกลม ยาวได้ถึง 20 ซม. แฉกลึกไม่เกินกึ่งหนึ่ง ปลายแฉกรูปสามเหลี่ยมกลม โคนรูปหัวใจ เส้นโคนใบข้างละ 5-6 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ตาดอกรูปรียาวประมาณ 1 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 6-8 มม. ใบประดับย่อยติดใกล้ใต้ฐานดอก กลีบเลี้ยง 3-5 กลีบ ดอกสีขาวเปลี่ยนเป็นสีครีม กลีบรูปใบพาย ยาว 1.5-1.8 ซม. ขอบจักมน เกสรเพศผู้ 3 อัน ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย อับเรณูสีชมพู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1-2 อัน รังไข่มีขนยาวสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ฝักรูปขอบขนาน ยาว 20-23 ซม. ก้านยาวประมาณ 1.5 ซม. มี 4-6 เมล็ด

เมื่อ พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคใต้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานโครงการพระราชดำรินำน้ำจากน้ำตกบาโจมาให้ราษฎรใช้ ได้ทรงพบต้นใบไม้สีทองหรือย่านดาโอ๊ะ ขึ้นอยู่บริเวณน้ำตกบาโจ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ใบไม้สีทองเป็นไม้ประจำถิ่น มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จึงได้โปรดนำมาอนุรักษ์และขยายพันธุ์ และได้พระราชทานมาให้ปลูกที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2539 จำนวน 13 ต้น และเมื่อ พ.ศ. 2542 ต้นใบไม้สีทองได้ออกใบกำมะหยี่สีทองแดง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและแห่งแรกที่ใบไม้เป็นสีทองแดงเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร


ประโยชน์/สรรพคุณ
ปลูกเป็นไม้ประดับ ใบ สีทองใช้ประดับตกแต่ง
打印二维码