,
/ / ชื่อต้น : กระแจะ

ชื่อต้น : กระแจะ

วงศ์ RUTACEAE
ชื่ออื่น ๆ ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคกลาง ราชบุรี), พินิยา (เขมร)

ลักษณะ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เนื้อไม้สีขาว เปลือกต้นสีน้ำตาล ขรุขระ ลำต้นและกิงมีหนาม มีหนามแข็ง และยาว ยาวได้ถึง 2.5 ซม. สูง 8–15 ม. ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อย 4–13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5–3 ซม. ยาว 2–7 ซม. เนื้อใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เนียน เกลี้ยง ขอบใบหยัก เป็นซี่ฟันเลื่อย ตื้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3–5 เส้น ก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 ซม. ไม่มีก้านใบย่อย ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามกิ่งเล็ก ๆ หรือตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ กลีบดอกรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 7 มม. เกลี้ยง เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4–6 มม.ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 ซม. ก้านดอกยาว 8–10 มม. เกลี้ยง หรือมีขน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมัน ด้านในเกลี้ยง ผลสดรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดสีม่วงคล้ำ ก้านผลยาวได้ถึง 2 ซม. เมล็ดรูปเกือบกลม กว้างประมาณ 5 มม. สีน้ำตาลอมส้มอ่อน มี 1–4 เมล็ด

สรรพคุณ/ประโยชน์ เปลือกและเนื้อไม้ เป็นเครื่องหอมประทินผิวพรรณ แก่น แก้โลหิตพิการ แก้กระษัย ใบ แก้ลมบ้าหมู ผล เป็นยาบำรุง