,
/ / ชื่อต้น : สมอไทย

ชื่อต้น : สมอไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz. var. chebula
วงศ์ COMBRETACEAE
ชื่ออื่น ๆ สมออัพยา (ภาคกลาง), ส้มมอ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), Myrabolan wood

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเกือบตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 8–30 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนรูปลิ่ม มน หรือเว้าตื้น แผ่นใบมีขนตามเส้นแขนงใบด้านลาง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1–4 ซม. มีต่อมหนึ่งคู่ใกล้โคนใบ ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว 4–10 ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–4 มม. หลอดเกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านในมีขนหนาแน่น รังไข่เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.5–2 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กว้าง ยาว 2.5–4.5 ซม. เรียบหรือมีสันตื้น ๆ เกลี้ยง ผลแก่สีดำ เมล็ดรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. ผิวย่น พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงถึงประมาณ 1,500 ม.

พระพุทธประวัติกล่าวว่า ในช่วงพระศาสดาเสวยวิมุตติสุข เมื่อเสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์จะไปยังร่มไม้เกด เพื่อเสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราชมีพระดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมถวายผลสมอ อันเป็นทิพย์โอสถ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอมาเสวย แล้วจึงเสด็จเข้าประทับยังร่มไม้เกด


ประโยชน์/สรรพคุณ
แก่น ใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง ผล มีรสฝาด ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้พิษร้อนใน เป็นหนึ่งในตำรับยาตีผลา ร่วมกับสมอพิเภกและมะขามป้อม