,
/ / ชื่อต้น : มะค่าโมง

ชื่อต้น : มะค่าโมง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib
วงศ์ FABACEAE
ชื่ออื่น ๆ เขง เบง (เขมร-สุรินทร์), มะค่าใหญ่ (ภาคกลาง), มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ลำต้นคดงอ มีขนสั้นนุ่มสีเทาตามช่อดอก ฐานดอก กลีบเลี้ยง โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณู และรังไข่ ใบประกอบปลายคู่ มีใบย่อย 3–5 คู่ รูปไข่ ยาว 5–9 ซม. ปลายมน เว้าตื้น ก้านใบย่อยยาว 3–5 มม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 5–15 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 6–9 ซม. ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอก ติดทน ก้านดอกยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรี คู่นอกขนาดเล็กกว่าคู่ในเล็กน้อย ยาว 1–1.2 ซม. โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบ ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 7 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2–3 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน รูปเส้นด้าย รังไข่มีก้านสั้น ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2–2.5 ซม. ยอดเกสรขนาดเล็ก ฝักแบนรูปขอบขนาน เบียว ยาว 15–20 ซม. ปลายเป็นจะงอยสั้น ๆ เปลือกหนา เมล็ดรูปรี ยาว 2.5–3 ซม. มีผนังกั้น ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มหนาสีเหลืองอมส้ม พบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาคเว้น ภาคใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับทะเล 100–600 ม. พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคล จังหวัด​สุโขทัย

ประโยชน์/สรรพคุณ
เนื้อไม้ ใช้ก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือการเกษตร กระบะรถบรรทุก ด้ามปืน เปลือก ผสมกับเปลือกมะค่าแต้ ประคบแก้ฟกช้ำ ปวดบวม ปุ่ม ขับพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง รักษาริดสีดวงทวาร เมล็ด ขับพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง