,
/ / ชื่อต้น : ไทรย้อยใบทู่

ชื่อต้น : ไทรย้อยใบทู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus microcarpa L. f.
วงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ๆ ไทรขี้นก (นราธิวาส), ไทรเขา (นครศรีธรรมราช), ไทรระโยง (นครราชสีมา), ไทรหิน (ชุมพร), ไฮฮี (เพชรบูรณ์)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูง 15–25 ม. เรือนยอดแผ่กว้าง มีรากอากาศเรียงเป็นสายยาวตามกิ่งน้ำยางข้นสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเดี่ยว เรียงเวียน แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปไข่กว้าง กว้าง 3–6 ซม. ยาว 4–10 ซม. ปลายใบติ่งมนถึงแหลม ดอกช่อ ดอกมีลักษณะคล้ายผล ไม่มีก้าน มักออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น เจริญอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะ มีรูเปิดที่ปลายฐานหน่วยผล มีใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ 3 ใบ คล้ายกลีบเลี้ยงรองรับฐานหน่วยผลติดทน ปลายหน่วยผลมีใบประดับขนาดเล็ก แบน 2–3 ใบ ปิดรูเปิด ดอกย่อยขนาดเล็กกลีบรวม 3 กลีบ รูปทรงไข่แกมรูปช้อน แยกกันเป็นอิสระ ดอกเพศผู้จำนวนน้อยไม่มีก้านดอกหรือเป็นก้านสั้น ๆกระจายปะปนกับดอกเพศเมียและดอกเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเพศเมียจำนวนมากไม่มีก้านดอก ผลแบบมะเดื่อ ค่อนข้างกลม ป่องตอนปลายคล้ายรูปตุ่มน้ำ กว้างและยาวประมาณ 0.8–1.2 ซม. มีเนื้ออวบน้ำ สีเขียวอ่อนมีจุดนูนสีขาว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน สีม่วงคล้ำถึงดำ ภายในประกอบด้วยผลย่อยแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ขนาดเล็ก จำนวนมาก พบที่ศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะริวกิว ถึงนิวบริเท็น ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายฝั่ง ปากแม่น้ำลำคลองน้ำกร่อย และเขาหินปูน

ประโยชน์/สรรพคุณ
ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา เปลือกต้น สมานแผล ท้องเดิน แก้บวม ทาแผลฟกช้ำ ราก แก้ปวด แก้ฝีพุพอง แก้นิ่ว รากอากาศแก้ขัดเบา ไตพิการดอก แก้ท้องเสีย แก้บวม ผล แก้ท้องเสีย แก้ฝีพุพอง ยาง ฆ่าพยาธิ ใส่บาดแผลแก้มะเร็ง