,
/ / ชื่อต้น : กระทุ่ม

ชื่อต้น : กระทุ่ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neolamarckia cadamba (Roxb.) Bosser
วงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่น ๆ ตะกู (จันทบุรีนครศรีธรรมราช สุโขทัย), ตะโกใหญ่ (ตราด), ตุ้มพราย ทุ่มพราย (ขอนแก่น), กระทุ่มบก กระทุ่มก้านยาว (กรุงเทพฯ), ตะโกส้ม (ชัยภูมิชลบุรี), แคแสง (ชลบุรี), โกหว่า (ตรัง), กรองประหยัน (ยะลา), ตุ้มก้านซ้วง ตุ้มก้านยาว ตุ้มเนี่ยง ตุ้มหลวง(ภาคเหนือ), กระทุ่ม (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง 45 ม. กิ่งออกตั้งฉากกับลำต้น หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1–2.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 12–25 ซม. ช่อดอกแบบกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่งเส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 ซม. ก้านช่อยาว 1.5–4 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม สีครีม อัดแน่นก้านดอกสั้นมาก ใบประดับ 1–3 คู่ หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. มี 5 กลีบรูปช้อน ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบติดทน หลอดกลีบดอกยาว 5–9 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบรูปใบหอก ยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรรูปกระบอง ยาว 1.5–2 ซม. ผลกลุ่มเป็นกระจุกกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 ซม. ผลย่อยแยกกัน ยาวประมาณ 3 มม. เมล็ดรูปสามเหลี่ยมพบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในประเทศไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ตามหุบเขาหรือริมธาร ที่ความสูงถึงประมาณ 1,300 ม.

ประโยชน์/สรรพคุณ
เปลือก แก้ไข้ แก้ปวดมดลูก บำรุงร่างกาย อมกลั่วคอแก้เยื่อเมือกในปากอักเสบ ใบแก้ท้องเสีย ปวดมวนในท้อง ระงับกลิ่นปาก ดอก บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย