,
/ / ชื่อต้น : โกงกางใบใหญ่

ชื่อต้น : โกงกางใบใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora mucronata Poir.
วงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น ๆ กงกอน, กงกางนอก, กงเกง,กางเกง, พังกาใบใหญ่, โกงกางใบใหญ่, ลาน

ลักษณะทั่วไป
ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20–30 ม. รากค้ำจุนขนาดใหญ่งอกจากลำต้นเป็นจำนวนมาก มักโค้งและไม่หักศอกเป็นมุมฉากเหมือนรากค้ำยันของโกงกางใบเล็ก เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลเทา เปลือกในส้ม กระพี้สีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาล ลำต้นเปลาตรง
ใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามสลับฉาก รูปไข่กว้างถึงรูปรีกว้าง ขนาดกว้าง 8–10 ซม. ยาว 14–20 ซม. ฐานใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแข็ง หูใบแคบสีเขียว หน้าใบมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง หน้าใบสีเขียวอ่อน หลังใบสีเขียวอมเหลือง หลังใบมีจุดสีน้ำตาลเห็นได้ชัด
ดอก ช่อกระจุก แต่ละช่อประกอบด้วยดอก 2–12 ดอก สีขาวอมเหลือง กลีบรอบกลีบดอกมี 4 กลีบ รูปไข่ โคนติดกัน กลีบดอกรูปใบหอก
ผล แบบ Drupebaceous มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายไข่ เป็นผลแบบที่งอกก่อนผลร่วง โดยส่วนใต้ใบเลี้ยงในเมล็ด
พบที่แอฟริกาฝั่งตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก ตองกา และตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นตามป่าชายเลนปากแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำกร่อย และพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ประโยชน์/สรรพคุณ
ลำต้นใช้ก่อสร้าง เผาถ่านให้ถ่านคุณภาพดีมาก เปลือกต้นแทนนินสูง ใช้ในการย้อมสีและฟอกหนัง น้ำต้มจากเปลือกต้นเป็นยาฝาดสมาน แก้โรคเบาหมาน ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝัง รวมถึงเป็นแหล่งวางไข่และฟักตัวอ่อนของสัตว์ทะเล