,
/ / ชื่อต้น : คงคาเดือด

ชื่อต้น : คงคาเดือด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arfeuillea arborescens Pierre ex Radlk.
วงศ์ SAPINDACEAE
ชื่ออื่น ๆ ช้างเผือก (ลำปาง), สมุยกุย (นครราชสีมา), ตะไล (ราชบุรี), ตะไลคงคา (ชัยนาท), คงคาเลือด หมากเล็กหมากน้อย (ภาคกลาง)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-20 ม. ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ทึบ เปลือกสีเทาอมดำ เรียบหรือแตกล่อนเป็นแผ่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน 4-5 คู่ ใบรูปไข่หรือรูปหอก กว้าง 2.5-4.0 ซม. ยาว 4.5-7.0 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือเรียวแหลม ฐานใบสองหรือเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสาก เส้นแขนงใบข้างละ 10-12 เส้น ใบอ่อนเป็นช่อตั้งสีเขียวอ่อนตัดกับสีเขียวเข้มของพุ่มรวม
ดอก สีน้ำตาล กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 2-4 กลีบ
ผล ผลแห้งแตก สีน้ำตาล มีปีก 3 ปีก มี 3 เมล็ดต่อผล เมล็ดค่อนข้างกลมสีดำ

ประโยชน์/สรรพคุณ
แก่น ฝนกับน้ำกินเป็นยาฆ่าพยาธิ
เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ และช่วยให้เจริญอาหาร ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาอาการคัน แสบร้อนตามผิวหนัง และโรคซาง (โรคของเด็กเล็ก มีอาการสำคัญคือ เบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า)