,
/ / ชื่อต้น : โมกราชินี

ชื่อต้น : โมกราชินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia sirikitiae D.J. Middleton & Santisuk
วงศ์ APOCYNACEAE
ชื่ออื่น ๆ -

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูงได้ถึง ๖ เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางขาว
ใบ เดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ รูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลม
ดอก สีขาว ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายยอด ดอกย่อยมี ๕ กลีบ ขนาด ๓-๕ ซม. เกสรผู้เรียงเป็นวง มีกิ่งก้านแตกแขนง เกสรเมียมัดรวมเป็นแท่งตามยาวมียอดแหลมอยู่กลางดอก
ผล เป็นฝักคู่สีน้ำตาล ผิวมีแผลจุดระบายอากาศ เมื่อแก่จะแตกตามยาว เมล็ดแบนรี ตรงขั้วมีขนยาวทำให้ปลิวไปได้ไกล

ประโยชน์/สรรพคุณ
เป็นไม้ถิ่นเดียวพบเฉพาะในประเทศไทย พบครั้งแรกบริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี มีสถานภาพเป็นไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์

ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข ได้ค้นพบและเก็บตัวอย่างโมกราชินี จากบริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ต่อมาได้มีการตรวจสอบเอกลักษณ์พืชชนิดนี้ร่วมกับ D.J. Middleton ผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้สกุลโมกชาวอังกฤษ ได้รับการยืนยันว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงได้ขอพระราชทานพระนามาภิไธย เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดใหม่นี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ และได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามอันเป็นมงคลยิ่ง โมกราชินี ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักพฤกษศาสตร์ไทยที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และเพื่อช่วยอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้มิให้สูญหาย