,
/ / ชื่อต้น : สกุณี

ชื่อต้น : สกุณี

ชื่อสามัญ : Philippine almond, Yellow terminalia
วงศ์ : COMBRETACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ :แฮ้น (นครสวรรค์, ชุมพร), ตีนนก (จันทบุรี, ตราด), สัตคุณี (ราชบุรี), ขี้มอด (นครปฐม), ตาโหลน (สตูล), แหนแดง (ภาคเหนือ), ประคำขี้ควาย (ภาคใต้), เปียแคร้ (เขมร-จันทบุรี) เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป : จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น ซึ่งจะแผ่กว้างแบนและมักมีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้น เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมหรืออาจเกลี้ยง ทิ้งใบในช่วงสั้น ๆ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย พบขึ้นทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณในระดับต่ำที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

- ใบ : เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันแน่นใกล้ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแคบๆ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ กว้าง 3-8 ซม. ยาว 9-18 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมักเป็นเงามัน ก้านใบเรียว ยาว 1-4 ซม. มักมีต่อมหนึ่งคู่ อยู่บริเวณกึ่งกลางก้านใบ
- ดอก : สีขาวแกมเหลือง ออกเป็นแกนช่อตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 8-16 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 มม. มีกลิ่นหอมเอียน กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย ยาว 1-2 มม. ปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1 มม. ด้านนอกมีขน ด้านในมีเกสรผู้จำนวนมารก
- ผล : เป็นรูปสามเหลี่ยม แก่ไม่แตก มีปีก 2 ปีก มีขนคลุมสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม.

ประโยชน์ : เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น) หรือ ใช้เป็นยาแก้ตกเลือด (เปลือกต้น) และถ้าใช้ผสมกับรากต้นรักดอกขาว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตานซางในเด็ก (เปลือกต้น) นอกจากนี้ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)