,
/ / ชื่อต้น : ผักหวานป่า

ชื่อต้น : ผักหวานป่า

ประโยชน์ของผักหวานป่า :
1. คนไทยนิยมใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดน้ำมัน หรือนำมาใช้ประกอบอาหารในเมนูต่างๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงปลา แกงกะทิสด แกงกับไข่มดแดงหรือป่าแห้ง แกงคั่ว ต้มจืด ฯลฯ แต่ผักหวานป่าเป็นผักตามธรรมชาติที่ออกตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อย ทำให้มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่นๆ จึงถือได้ว่าผักหวานป่าเป็นที่อาหารพิเศษสำหรับใครหลายๆ คนที่นานๆ ครั้งจะได้รับประทาน สำหรับผลแก่ยังสามารถให้นำมาลอกเนื้อทิ้ง แล้วนำเมล็ดไปต้มรับประทานเช่นเดียวกับเมล็ดขนุน โดยจะมีรสหวานมัน บ้างว่าใช้ผลสุกนำมาต้มให้สุกและรับประทานแต่เนื้อข้างใน
2. นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักและใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ผลสุกของผักหวานป่ายังสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้อีกด้วย เพียงแต่จะไม่นิยมเท่านำมาใช้รับประทานเป็นผัก และในธรรมชาติผลสุกยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่างๆ อีกด้วย
3. ผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน และวิตามินซี อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใบอาหารอยู่พอสมควร จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น จากที่เห็นก็พอจะทราบได้ว่าผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอนุมูลอิสระเป็นตัวก่อให้เกิดความเสียดุลในร่างกายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ อีกมายมาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคข้อ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ดังนั้น การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงแต่จะได้คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น หากแต่ยังได้รับสารอาหารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี
4. อีกทั้งผักหวานป่ายังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยในการบำรุงสายตา มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย มีวิตามินบี2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก นอกจากนี้ผักหวานป่ายังมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการขับถ่ายและเป็นยาระบายอ่อนๆ
5. ในปัจจุบันพบว่ามีการนำผักหวานป่ามาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ โดยชาผักหวานจะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี สารประกอบฟีนอลิก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ
6. เนื่องจากผักหวานป่าจะมีจำหน่ายมากในบางช่วงฤดูเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถบริโภคได้ตลอดปี แต่ในปัจจุบันได้มีการนำยอดและใบอ่อนของผักหวานป่ามาแปรรูปทำเป็นแกงผักหวานป่าสำเร็จรูปเพื่อลดปัญหาความต้องการบริโภคในช่วงที่มีจำหน่ายน้อยและมีจำหน่ายในราคาที่สูง และจากการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็พบว่าการนำผักหวานป่ามาแปรรูปโดยวิธีการอบแห้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สรุปก็คือ วิตามินซีของยอดผักหวานป่าสดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผักหวานป่าที่แปรรูปโดยวิธีการอบแห้ง พบว่าวิตามินซีจะลดลงไม่เกินร้อยละ 10
7. นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักหวานป่าอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำผักหวานป่า ไวน์ คุกกี้ ขนมถ้วย ข้าวเกรียบ ทองม้วน เป็นต้น