,
/ / ชื่อต้น : ส้มเขียวหวาน

ชื่อต้น : ส้มเขียวหวาน

วิธีการปลูก : นิยมขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งและติดตา การปลูกเตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายตัว ใช้ระยะปลูก 4x6 หรือ 6x6 เมตร ติดดอกออกผลช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ อายุเก็บเกี่ยว 8.5-10 เดือนหลังการติดผล

การดูแลรักษา : ระยะเจริญเติบโตให้น้ำปกติ ระยะออกดอกต้องการน้ำน้อย ระยะติดผลถึงผลแก่ต้องการน้ำมากขึ้น ระยะผลส้มเข้าสีแล้วลดปริมาณน้ำลง การให้ปุ๋ยตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 1 ปี ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปุ๋ยเคมี เช่น 20-10-10 ผสม 46-0-0 (1:1) อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี สำหรับต้นอายุ 2-4 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 20 กิโลกรัมต่อต้น และใส่ปุ๋ยเคมีส่วนผสมเดียวกันอัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น (แบ่งใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง) ส้มอายุ 4 ปีขึ้นไป (เริ่มให้ผลผลิต) ให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น และพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร (ก่อนออกดอก) ให้ปุ๋ยธาตุอาหารรองและอาหารเสริม เช่น แคลเซียม ทองแดง แมงกานีส เป็นต้น (ระยะติดผล) ให้สูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น (ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว)

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ : โรคกรีนนิ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีแมลงเพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Diaphorina citri ) ลักษณะการเข้าทำลายที่ใบจะมีสีเหลืองขณะที่เส้นกลางใบ และเส้นแขนงมีสีเขียว ขนาดใบเล็กลงและเรียวยาว ยอดเล็กและ ตั้งชี้ การป้องกันกำจัดโดยพ่นอิมิดาโคลพริด ในอัตรา 8 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้มซึ่งเป็นพาหะนำโรคกรีนนิง โรคทริสเตซ่า เกิดจากเชื้อไวรัส มีแมลงเพลี้ยอ่อนส้ม (Toxoptera citricidus) เป็นพาหะนำโรค เชื้อนี้อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อส้ม ใบอ่อนมีสีเขียวซีดหรือด่างคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร เส้นใบแสดงอาการโปร่งใสเป็นขีดสั้นๆ และมีลำต้นเป็นแอ่งบุ๋ม
โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora parasitica) เป็นเชื้อราในดิน อาการส้มใบเริ่มเหลืองสลดลง จนในที่สุดใบจะร่วงหรือแห้งยืนต้นตาย การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นฟอสฟอรัสแอซิด อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคแคงเกอร์ ลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น และตรงกลางแผลจะค่อยๆ เห็นเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนๆ พบเห็นได้ทั้งด้านหน้าใบและหลังใบ โดยจะมีวงฉ่ำน้ำใสๆ ล้อมรอบแผลตกสะเก็ดนั้น เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้นบริเวณสะเก็ดตรงกลางแผลจะขยายใหญ่ขึ้นและมองเห็นเป็นวงซ้อนๆกัน ต่อมาใบจะเหลืองแห้งและหลุดร่วงไป บริเวณกิ่งอ่อนและผลลักษณะของแผลเป็นแผลเป็นแผลตกสะเก็ดนูน สีน้ำตาลรูปร่างไม่แน่นอน แต่ไม่พบลักษณะฉ่ำน้ำใสๆ รอบๆ แผลเหมือนกับที่เกิดบนใบ แผลขนาดใหญ่ที่เกิดกับผลจะแตกบริเวณกลางแผล และแผลยุบตัวลงไปผลที่เป็นโรคมากๆ อาจจะร่วงหล่นได้ การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77 % อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ไฮดลอไรด์ 85 % อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบโรคเข้าทำลายและพ่นซ้ำทุกๆ 7-10 วัน
เพลี้ยไฟพริก พบการระบาดช่วงยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยง หากระบาดมากทำให้ตาไม่แตก ใบพองเป็นลูกฟูก และแห้งกรอบในที่สุด ผลอ่อนอาจชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ผลส้มมีริ้วรอย การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น อิมิดาโคลพริด อัตรา 10-20 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อนส้มที่แตกใหม่ ยอดจะหงิกงอและแห้งตายได้ เป็นพาหะของโรคกรีนนิ่ง
เพลี้ยอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนส้ม ทำให้ใบอ่อนม้วนและหงิกงอ ทำให้เกิดราดำบนใบ เป็นพาหะนำโรคไวรัสทริสเตซ่า การป้องกันจำกัดโดยฉีดพ่น คาร์โบซัลแฟน อัตรา 40 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ไรแดงแอฟริกัน ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบส้มด้านหน้าใบทำให้ใบส้มเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางหรือชีดและหน้าใบเป็นมันและเป็นคราบฝุ่นหรือผงสีขาวอยู่ตามบริเวณหน้าใบ นอกจากนี้ทำลายผลส้มอ่อนอาจทำให้ผลเปลี่ยนเป็นสีชีดและกระด้าง การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น อามีทราซ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ไรสนิมส้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและผลส้ม ทำให้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิม หากทำลายในระยะผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโตได้ การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น กำมะถัน อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออามีทราซ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนชอนใบส้ม หนอนกัดกินเนื้อใบใต้เยื่อผิวใบและชอนไชอยู่ระหว่างผิวใบ การทำลายทั้งด้านหลังใบและหน้าใบ มองเห็นเป็นฝ้าสีขาวกวนตามทางที่หนอนทำลาย ทำให้ใบหงิกงอ และลดประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของใบ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เชื้อสาเหตุของโรคแคงเกอร์ เข้าทำลายได้ง่าย การป้องกันกัดโดยฉีดพ่น อิมิดาโคลพริด อัตรา 8 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนแก้วส้ม กัดกินใบอ่อนและใบเพสลาด เมื่อพบเห็นเก็บตัวทำลายได้เลย

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ : ส้มเขียวหวานคุณค่าอาหารสูงมาก มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินบีคอมเพล็กซ์ เนื้อส้มช่วยเจริญอาหาร วิตามินซีในส้มรักษาโรคเหงือก ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ป้องกันโรคหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน ชานส้มช่วยขับถ่ายและป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ เปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหยที่นำมาใช้ทำยาบำรุง ใช้ทาใบหน้าป้องกันและรักษาสิวฝ้า